วันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2557

การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น



                จากข้อกฎหมายที่สถานศึกษาต้องไปดำเนินการให้สถานศึกษาหรือโรงเรียนสามารถพัฒนาหลักสูตรได้เอง ภายใต้กรอบของหลักสูตรแกนกลาง เป็นเรื่องที่จะต้องมีการเตรียมการให้พร้อม ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ในมาตรา 27 ที่กำหนดให้
คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อความเป็นไทย ความเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ การดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ การศึกษาตลอดจนสภาพปัญหาในชุมชนสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะอันพึงประสงค์ เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ
ซึ่งจะเห็นได้ว่าจุดมุ่งหมายในส่วนของหลักสูตรแกนกลางที่จัดทำโดยกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นไปอย่างกว้างๆ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จะได้นำไปจัดทำสาระของหลักสูตรในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม สำหรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับบริบทกับสถานศึกษานั้นๆต่อไป
โดยการวางแผนหลักสูตรท้องถิ่น ในที่นี้เป็นการนำหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานมาจัดเป็นหลักสูตรสถานศึกษา ใช้ข้อมูลหรือแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น คือ การวิเคราะห์เชื่อมโยงข้อมูลท้องถิ่น แหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น และทรัพยากรบุคคลในท้องถิ่น มาบูรณาการการจัดกระบวนการทางการศึกษา การสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับผู้เรียน
วิธีการวางแผนพัฒนาหลักสูตร
โดยทั่วไปการวางแผนพัฒนาหลักสูตร จะเริ่มต้นจากการวิเคราะห์หลักสูตรเดิมที่ใช้กัน ว่ามีผลต่อการใช้ในปัจจุบันอย่างไร หากหลักสูตรเดิมไม่สนองต่อความต้องการของสังคมและผู้เรียนในปัจจุบัน อันจะส่งผลไปสู่อนาคต เพื่อการผลิตคนสู่อนาคตแล้วก็ให้นำผลที่ได้มาเป็นข้อมูลในการวางแผนสร้างหลักสูตรใหม่
การจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสภาพและแหล่งการเรียนรู้ต่างๆที่มีอยู่ในท้องถิ่น เริ่มจากครูและนักเรียนร่วมกันจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับบุคลากร องค์กรทางสังคม แหล่งการเรียนรู้ทางธรรมชาติและวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นที่สามารถนำมาใช้ในการประกอบการสอน เตรียมเนื้อหาต่างๆไว้อย่างเป็นระบบระเบียบ เพื่อความสะดวกในการใช้งาน ครูอาจจะพาผู้เรียนไปศึกษาและฝึกการทำงานในสถานที่จริง ที่บ้าน หน่วยงาน หรือสถานประกอบการต่างๆที่มีในท้องถิ่น หรืออาจจะเชิญผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ที่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพต่างๆมาเป็นวิทยากรในโรงเรียน

ผลที่คาดว่าจะได้รับ          
การเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นของตน จะทำให้ผู้เรียนไม่เกิดความแปลกแยกกับท้องถิ่น สามารถดำเนินชีวิตและพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างสอดคล้องกับความเป็นจริงรอบๆตัว การเปิดโอกาสให้บุคลากรในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนการสอน เป็นการประสานความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโรงเรียนกับชุมชน เพื่อสร้างสรรค์พัฒนาการศึกษาและท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้าตามความต้องการและเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมต่างๆทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม ศาสนา วัฒนธรรม ฯลฯ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น